หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ควรกินยาป้องกันโรคมาลาเรียเมื่อต้องเดินทางเข้าป่าหรือไม่ ?

ควรกินยาป้องกันเมื่อต้องเดินทางเข้าป่าหรือไม่ ?
การกินยาก่อนเข้าแหล่งระบาดมาลาเรีย ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคมาลาเรียแต่อย่างใด เนื่องจากเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยดื้อต่อยาหลายขนาน ทำให้ไม่มียาที่มีประสิทธิภาพสูง มีฤทธิ์ข้างเคียงน้อยและเหมาะสมที่จะใช้เป็นยารับประทานป้องกันมาลาเรียสำหรับประชาชนทั่วไป การกินยาเป็นเพียงแต่กดอาการไว้เท่านั้น เมื่อหยุดกินยาเชื้อจะออกมาในกระแสเลือดและเกิดอาการของโรคได้อีก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินยาป้องกัน แต่ให้เน้นมาตรการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดด้วยวิธีต่างๆดังข้างต้น และควรจะรีบเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียเมื่อมีอาการไข้หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้มาลาเรียภายใน7-14วัน หรือภายใน1-2เดือนหลังจากเดินทางออกจากแหล่งระบาด
ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปอยู่หรือต้องเข้าไปทำงานในบริเวณแหล่งระบาดนั้นๆเป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง อาจต้องกินยาป้องกัน แต่ไม่รับรองผลการป้องกัน 100 % โดยเลือกกินยาเพียงชนิดใดเพียงชนิดหนึ่ง ดังนี้
1.  ยาเมโฟลควิน (mefloquine) เม็ดละ 250 มิลลิกรัม กินสัปดาห์ละ 1 เม็ด โดยเริ่มกิน 1 สัปดาห์ก่อนจะเดินทางและกินติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ จนกระทั่งเดินทางกลับมาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์
2.  ยาดอกซี่ไซคลิน (doxycycline) เม็ดละ 100 มิลลิกรัม กินวันละ 1 เม็ด เริ่มกิน 3-5 วันก่อนเดินทาง กินติดต่อกันทุกวัน จนกระทั่งเดินทางออกมาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
เหตุผลที่ไม่ควรกินยาป้องกันโรคมาลาเรีย
1.  ความเสี่ยงในการติดเชื้อมาลาเรียจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมีน้อยมาก ความชุกของมาลาเรียในประเทศไทยน้อยลงมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยแล้ว โอกาสติดน้อยมาก คือนักท่องเที่ยว 10,000 คน จะติดเพียง 1 คน เท่านั้น
2.  ปัจจุบันในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พบปัญหาการดื้อยามาลาเรียมาก ทำให้การกินยาป้องกันมาลาเรีย ไม่สามารถป้องกันได้ 100 % และการกินยาอาจทำให้อาการของโรคมาลาเรียไม่ชัดเจน และทำให้เกิดปัญหาดื้อยาอย่างมากในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นคนกินยาเองอาจจะเชื่อมั่นผิดๆว่ากินยาแล้วไม่เป็นมาลาเรียเลยไม่ไปพบหมอ ทำให้การวินิจฉัยและการรักษายุ่งยากมากขึ้น  ซึ่งอาจเสียชีวิตได้
3.  ถ้าจะกินยาป้องกันมาลาเรียจริงๆ ต้องกินยาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นยาเมโฟลควิน (mefloquine) หรือ ด๊อกซี่ไซคลิน (doxycycline) ต้องกินหลังจากออกจากป่าอีกประมาณ 1 เดือน คนที่ไปเที่ยวป่า เช่นเขาใหญ่ก็ประมาณ 3-4 วัน หรือไม่เกินหนึ่งสัปดาห์  แต่ต้องกินยาป้องกันมาลาเรียเป็นเดือน จึงมีน้อยคนที่จะกินยาต่อโดยไม่มีอาการ ซึ่งจะก่อให้เชื้อพัฒนาการดื้อยานั้นๆในอนาคต นอกจากนื้ยังมีโอกาสเแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงได้
4.  ปัจจุบันในประเทศไทยมีการบริการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี มีคลินิกมาลาเรียกระจายอยู่ในแหล่วระบาดทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลและสถานีอนามัยอยู่ทั่วไป อีกทั้งการคมนาคมก็ดีขึ้นมาก  เวลามีอาการไข้เกิดขึ้น ก็สามารถไปหาหมอได้ทัน ทำให้วินิจฉัยและรักษาได้ทันการ
จากเหตุผลหลักๆทั้ง 4 ข้อ ทำให้ ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรียในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย  แต่ถ้าต้องเดินทางไปประเทศอื่นที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศแถบแอฟริกา ปาบัวนิกีนี ฯลฯ ควรต้องมาพบแพทย์เพื่อพิจารณากินยาป้องกันชนิดที่เหมาะสม
การรักษา  
การรักษามาลาเรีย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1.  การรักษาจำเพาะ คือการให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียที่เป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง การเลือกชนิดของยารักษา ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย เนื่องจากการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่างๆมีความแตกต่างกัน
2.  ถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเชื้อพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ หรือพลาสโมเดียม โอวาเล่ ต้องได้รับยาฆ่าระยะฮิบโนซอยต์ด้วย เพื่อการรักษาหายขาด
3.  การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน คือ การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีเชื้อมาลาเรีย หรือภายหลังที่เชื้อมาลาเรียหมดแล้ว   โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อพลาสโมเดียม  ฟัลซิพารัม ถ้าได้รับการรักษาช้าไป จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าชนิดอื่นๆ
4.  การป้องกันการแพร่โรค คือ การใช้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อไปสู่ยุง คือระยะแกมมีโตไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในท้องที่ที่มียุงพาหะ
ข้อพึงจำไว้เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อมาลาเรียเมื่อเข้าไปในเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย
1.  อย่าให้ยุงกัด
2.  ไม่กินยาป้องกัน
3.  กลับออกมาจากแหล่งระบาดหรือในพื้นที่มี่คนเคยติดเชื้อมาลาเรียแล้ว เกิดมีอาการไข้  ปวดศีรษะ ห้ามซื้อยารับประทานเอง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจติดเชื้อมาลาเรีย ควรไปพบแพทย์ เจาะเลือดจากปลายนื้วเพื่อตรวจหาเชื้อและจำแนกชนิดของเชื้อ(เนื่องจากใช้ยาต่างชนิดกัน) เพื่อที่จะได้รับการรักษาด้วยยาที่ถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที  แม้ว่าผลการตรวจครั้งแรกจะให้ผลลบต่อเชื้อมาลาเรีย แต่ถ้ามีอาการดังกล่าวขึ้นภายในเวลา 1-2 เดือน และอาการที่เกิดขึ้นได้รับการวินิจฉัยแล้วไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้ออื่นๆ ขอแนะนำให้ไปตรวจหาเชื้อมาลาเรียซ้ำอีกครั้ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น